Translate

123456

สวัสดีครับกระผม นายไวยวิทย์ ปลูกชาลี 59010512076 ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่บล็อคของผมนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษานะครับ ขอบคุณครับ

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

จังหวัดชลบุรี

ตราประจำจังหวัดชลบุรี
จังหวัดชลบุรี
ข้อมูลทั่วไปจังหวัดชลบุรี
            จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่ติดกับอ่าวไทยจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่งตั้งอยู่ นอกจากด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกอย่างมาก นอกจากนั้นยังเป็นทั้งในด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศ
            ในอดีตจังหวัดชลบุรีนั้นเคยเป็นแหล่งที่ตั้งของเมืองท่าที่มีความสำคัญมาก แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่มีความสำคัญของประเทศรองจากท่าเรือกรุงเทพ นั่นก็คือท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งเหมาะสม จังหวัดชลบุรีนั้นมีอาณาเขตติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี
ที่ตั้ง และอาณาเขต
            จังหวัดชลบุรีตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย  หรือริมฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย  ประมาณเส้นรุ้งที่ 12  องศา  30  ลิปดา-13 องศา  43 ลิปดาเหนือ  และเส้นแวงที่  100  องศา  45  ลิปดา-101 องศา 45  ลิปดาตะวันออก  ระยะทางจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนสายบางนา-ตราด)  รวมระยะทางประมาณ 81  กิโลเมตร  นอกจากนี้ยังมีเส้นทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือ Motorway (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ระยะทาง
 79 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาทีเท่านั้น

            จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,726,875  ไร่ (4,363  ตารางกิโลเมตร) คิดเป็นร้อยละ 0.85 ของพื้นที่ประเทศไทย  (พื้นที่ของประเทศไทยประมาณ  320,696,875 ไร่  หรือ  513,115  ตารางกิโลเมตร)
            ทิศเหนือ              ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
            ทิศใต้                   ติดกับจังหวัดระยอง
            ทิศตะวันออก       ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา  จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดระยอง
            ทิศตะวันตก         ติดกับชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย
หน่วยการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
จังหวัดชลบุรีแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 11 อำเภอ 92 ตำบล 687 หมู่บ้าน โดยอำเภอทั้ง 11 อำเภอมีดังนี้
1. อำเภอเมืองชลบุรี
2. อำเภอบ้านบึง
3. อำเภอหนองใหญ่
4. อำเภอบางละมุง
5. อำเภอพานทอง
6. อำเภอพนัสนิคม
7. อำเภอศรีราชา
8. อำเภอเกาะสีชัง
9. อำเภอสัตหีบ
10. อำเภอบ่อทอง
11. อำเภอเกาะจันทร์

ลักษณะภูมิประเทศ
            ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดชลบุรีมีการผสมผสานกันมากถึง 5 แบบ  ทั้งที่ราบลูกคลื่นและเนินเขา  ที่ราบชายฝั่งทะเล  ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง  พื้นที่สูงชันและภูเขา  รวมถึงเกาะน้อยใหญ่อีกมากมายที่ราบลูกคลื่นและเนินเขา ของชลบุรี  พบได้ทางด้านตะวันออกของจังหวัด  ในเขตอำเภอบ้านบึง  พนัสนิคม  หนองใหญ่  ศรีราชา  บางละมุง  สัตหีบ  และบ่อทอง  พื้นที่นี้มีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ คล้ายลูกระนาด  ปัจจุบันพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการปลูกมันสำปะหลัง  สำหรับ ที่ราบชายฝั่งทะเล  นั้นพบตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง  ถึงอำเภอสัตหีบ  เป็นที่ราบแคบๆชายฝั่งทะเล  มีภูเขาลูกเล็กๆ สลับเป็นบางตอน  ถัดมาคือ  พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง  มีลำน้ำคลองหลวงยาว 130 กิโลเมตร  ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอบ่อทองและอำเภอบ้านบึง  ผ่านพนัสนิคม  ไปบรรจบเป็นคลองพานทองไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง  โดยดินตะกอนอันอุดมสมบูรณ์จากการพัดพาของแม่น้ำบางปะกงนี้เอง  ได้ก่อให้เกิดที่ราบลุ่มเหมาะสมต่อการเกษตรกรรม  ส่วน  พื้นที่สูงชันและภูเขา  นั้น  อยู่ตอนกลางและด้านตะวันออกของจังหวัด  ตั้งแต่อำเภอเมืองฯ  บ้านบึง  ศรีราชา  หนองใหญ่  และบ่อทอง  ที่อำเภอศรีราชานั้นเป็นต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ  แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคหลักแห่งหนึ่งของชลบุรี
            จังหวัดชลบุรีมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 160 กิโลเมตร  เว้าแหว่งคดโค้งสวยงาม  เกิดเป็นหน้าผาหิน  หาดทรายทอดยาว  ป่าชายเลน  ป่าชายหาด  ฯลฯ  ซึ่งอ่าวหลายแห่งสามารถพัฒนาไปเป็นท่าจอดเรือกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี  อาทิ  ท่าจอดเรือรบที่อำเภอสัตหีบ  เป็นต้น  สำหรับ เกาะ สำคัญๆมีอยู่ไม่น้อยกว่า 46 เกาะ  เช่น  เกาะสีชัง  เกาะค้างคาว  เกาะริ้น  เกาะไผ่  เกาะลอย  เกาะล้าน  เกาะครก  เกาะสาก  เกาะขาม  เกาะแสมสาร  และเกาะครามที่อยู่ในเขตทหารเรือของอำเภอสัตหีบ  เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลเต่าทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของไทย  เป็นต้น  โดยเกาะเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นปราการธรรมชาติ  ช่วยป้องกันคลื่นลม  ทำให้ชลบุรีไม่ค่อยมีคลื่นขนาดใหญ่  ต่างจากจังหวัดระยอง  จันทบุรี  และตราด  ซึ่งมักมีคลื่นใหญ่กว่า   ด้วยเหตุนี้เองชายฝั่งของชลบุรีจึงเต็มไปด้วยท่าจอดเรือประมง  และเหมาะแก่การสร้างท่าจอดเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่  อาทิ  ท่าเรือแหลมฉบัง  เป็นต้น
            ภูมิประเทศอันหลากหลายดังกล่าว  หล่อหลอมให้ชลบุรีสามารถพัฒนากิจกรรมต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร  อุตสาหกรรม  การพาณิชย์  การท่องเที่ยว  และการคมนาคมที่สะดวกสบาย

ลักษณะภูมิอากาศ
            จังหวัดชลบุรีมีลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อน  (Tropical Climate)  โดยได้รับอิทธิพลจากทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้  ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์  ส่งผลให้จังหวัดชลบุรีมีฤดูกาลแตกต่างกันอย่างชัดเจน 3 ฤดู ได้แก่
            ฤดูร้อน     เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม  อากาศค่อนข้างอบอ้าว  แต่ไม่ถึงกับร้อนจัด
            ฤดูฝน       เดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคม  มีฝนตกกระจายทั่วไป  โดยมักตกหนักในเขตป่าและภูเขา
            ฤดูหนาว   เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์  อากาศไม่หนาวจัด  ทว่าเย็นสบาย  ท้องฟ้าสดใส ปลอดโปร่ง  และมีแดดตลอดวัน  นับเป็นช่วงเวลาซึ่งชายหาดจะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว ส่วนภาคเกษตรในฤดูนี้เป็นเวลาที่ค่อน

ข้างแล้ง  เพราะฝนทิ้งช่วงหลายเดือน

วิถีชีวิตและเศรษฐกิจ
            ชลบุรี เมืองชายทะเลที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดแห่งบูรพาทิศ ดินแดนชายทะเลอันมั่งคั่งแห่งนี้ ได้ผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จากการเป็นเมืองท่าค้าขายคึกคักในอดีต พัฒนามาสู่เมืองเกษตร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว สิ่งนี้อาจสะท้อนคุณลักษณะสำคัญของคนเมืองชล ซึ่งมีความขยัน และมองการไกล กอปรกับทรัพย์ในดินสินในน้ำ ต่างช่วยกันเอื้ออำนวยให้การพัฒนาในด้านต่างๆ  เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น และต่อเนื่อง 
            ปัจจุบันชลบุรีมีประชากรประมาณ  1,509,125  คน ประชากรแฝงประมาณ 1,500,000 คน  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้โยกย้ายเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทว่าเมื่อพูดถึงผู้คนพื้นถิ่นจริงๆ ของชลบุรีแล้ว จะพบว่าคนชลบุรีมีอาชีพผูกพันอยู่กับท้องทะเล นาไร่ ทำปศุสัตว์ และทำเหมืองแร่ โดยลักษณะนิสัยของคนเมืองชลดั้งเดิมได้ชื่อว่าเป็นคนจริง ใช้ชีวิตเรียบง่าย ประหยัดอดออม เอาการเอางาน หนักเอาเบาสู้ มีความเป็นมิตร และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ แม้ทุกวันนี้สภาพบ้านเมืองของชลบุรีจะเจริญรุดหน้าไปมาก อีกทั้งมีผู้คนต่างถิ่นโยกย้ายเข้ามาอาศัยผสมกลมกลืนกับชนดั้งเดิม ทว่า คนเมืองชลก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีอันดีงามของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น สะท้อนออกมาในรูปแบบงานเทศกาลประจำปีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญกลางบ้าน และงานเครื่องจักสานพนัสนิคม งานประเพณีวันไหล (งานก่อพระทรายวันไหล) ในช่วงหลังวันสงกรานต์ งานประเพณีกองข้าวอำเภอศรีราชา งานประเพณีวิ่งควายอันคึกคักสนุกสาน รวมถึงงานแห่พระพุทธสิหิงค์และงานกาชาดชลบุรี เป็นต้น เหล่านี้ ล้วนแสดงให้ประจักษ์ถึงเอกลักษณ์ความโดดเด่นของคนชลบุรีได้อย่างชัดเจน
            คนเมืองชลในปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์  อิสลาม  และอื่นๆ  โดยผสมผสานความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ในศาสนาที่ตนนับถือด้วย เช่น เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ผู้คนที่ศรัทธาก็จะพากันนุ่งขาวห่มขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์ แล้วเดินทางไปร่วมสวดมนต์บำเพ็ญทานยังโรงเจต่างๆ ทั่วจังหวัดชลบุรี หรือ อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คนเมืองชลมักเดินทางไปที่เขาสามมุข เพื่อสักการะ และขอพรจากเจ้าแม่สามมุขบริเวณเขาสามมุข ซึ่งไม่ห่างจากหาดบางแสน และอ่างศิลา  สองตัวอย่างนี้ คือความเชื่อของชาวจีนที่ผสานรวมเป็นเนื้อเดียวกับความศรัทธาท้องถิ่น  จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

            ชลบุรีเป็นย่านชุมชนจีนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก คนจีนในชลบุรีส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายแต้จิ๋ว ซึ่งเชี่ยวชาญการค้า และมีบทบาทสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ ประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2-3) อยู่แถบชายทะเลเมืองบางปลาสร้อย ทำการค้า และประมงอย่างกว้างขวาง จนมีเหลือส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้นำอ้อยเข้ามาปลูก และริเริ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแถบอำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง และอำเภอพนัสนิคม  ส่วนคนจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 มักทำอาชีพปลูกผักและเลี้ยงเป็ดอยู่ในบริเวณเดียวกัน  สำหรับชนชาวลาวนั้น อพยพเข้ามาช่วงรัชกาลที่ 3  มีอาชีพทำไร่ ทำนา และมีความสามารถพิเศษในการทำหัตถกรรมจักสาน ส่วนชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันมีอาชีพทำสวนผลไม้ ไร่มันสำปะหลัง และค้าขายในตลาด เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในประเพณี และศาสนา
            ทุกวันนี้ ชลบุรีได้ก้าวย่างผ่านยุคแห่งการพัฒนา จนสามารถบรรลุถึงความเพียบพร้อม ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ  การท่องเที่ยว  อุตสาหกรรม  การเกษตร  วิถีชีวิต  และสามารถรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นไว้ได้อย่างสมบูรณ์  กลายเป็นเมืองชายทะเลที่มีเสน่ห์  น่าเที่ยว  น่าลงทุน  และมีความปลอดภัยสูง

            ศักยภาพ และความโดดเด่นในหลายด้านของเมืองชลทั้งหมดดังกล่าว จึงกลายเป็นต้นทุนที่มั่งคั่งเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชลบุรีกลายเป็น “เพชรน้ำเอกแห่งบูรพาทิศ” ที่พร้อมเปิดประตูออกสู่สังคมโลกได้อย่างสมภาคภูมิ


วีดีโอท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น